โสมเกาหลี (Korean Ginseng)

โสมเกาหลี (Korean Ginseng)

โสมเกาหลี
•ต้นโสมเกาหลี มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีนตอนเหนือและประเทศเกาหลี จัดเป็นพืชล้มลุกมีอายุหลายปี ลำต้นฉ่ำน้ำ และมีขนาดประมาณ 60-80 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะกลมและตั้งตรง มีรากเก็บอาการลักษณะพองโต แยกเป็นง่าม นิยมเก็บรากมาใช้เป็นยาเมื่ออายุประมาณ 4-6 ปี โดยมักขึ้นใต้ร่มเงาไม้อื่น ลำต้นจะแห้งไปในช่วงฤดูหนาว

ต้นโสม โสมเป็นพืชโตช้า ถ้าเพาะจากเมล็ดจะต้องใช้เวลาถึง 5-6 ปี จึงจะเก็บมาใช้ได้ โดยในปีแรกจะมีความสูงเพียง 1 ฟุต มีใบ 1 ใบ ประกอบด้วยใบย่อย 3-5 ใบ และใบจะเพิ่มขึ้นปีละ 1 ใบ เมื่อถึงปีที่ 3 ก็จะเริ่มออกดอก เมื่ออายุ 4-5 ปี ต้นจะสูงประมาณ 2 ฟุต โสมเกาหลีเป็นพืชที่ปลูกยาก ต้องการภูมิอากาศเฉพาะ การเพาะปลูกจะต้องปลูกในที่ที่ไม่เคยปลูกโสมมาก่อนในช่วงระยะเวลา 10-15 ปี ต้องปลูกในที่ที่มีแสงไม่มาก และต้องเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี สามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดจากต้นแก่ที่มีอายุตั้งแต่ 4 ปีขึ้นไป แล้วต้องนำเมล็ดที่ได้ไปปลูกทันที เพราะหากทิ้งไว้ให้แห้งจะไม่ขึ้นทันที จะงอกใน 8 เดือน แต่ถ้าทิ้งเมล็ดไว้ 4 เดือนแล้วจึงนำมาปลูกในที่ชื้น จะใช้เวลา 9 เดือนจึงจะงอก โสมเป็นพืชที่ชอบดินเหนียว มีค่า pH ประมาณ 5.5-6.0 อุณหภูมิที่ปลูกประมาณ 0-15 องศาเซลเซียส ไม่ชอบแสงแดด จึงต้องทำร่มบังให้ ภูมิอากาศในประเทศไทยจึงไม่เหมาะสำหรับการปลูกโสมและยังไม่สามารถปลูกโสมได้ ในปัจจุบันปลูกกันมากในประเทศเกาหลี จีน รัสเซีย และญี่ปุ่น[1],[2],[3] อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า โสมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจะเรียกว่า “โสมป่า” ส่วนโสมที่มีคนนำมาเพาะปลูกจะเรียกว่า “โสมสวน” โดยโสมป่าจะมีรากขนาดเล็กและยาวกว่าโสมสวน บริเวณส่วนหัวของรากจะยาวและมีการแตกรากมาก รากฝอยจะยาวและเหนียวกว่าโสมสวน และมีคุณภาพที่ดีกว่าอีกด้วย

รากโสมเกาหลี รากมีขนาดใหญ่อ้วนกลม มีลักษณะอวบแตกเป็นแขนง 2 อัน ลักษณะคล้ายกับขาคน หากดูทั้งรากจะมีลักษณะคล้ายกับคน บางครั้งจึงเรียกว่า “โสมคน” โดยรากแก่ยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร โดยคำว่า “Ginseng” นั้นเป็นภาษาจีน ที่แปลว่า man-root ซึ่งหมายถึง รากไม้ที่มีลักษณะคล้ายคน มองดูคล้ายมีหัวแขนและขา (บางตำรากล่าวว่ารากโสมยิ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับมนุษย์มากเท่าไร ก็ยิ่งแสดงว่าโสมนั้นมีคุณค่าและมีราคาแพง) เปลือกรากเป็นสีเหลือง มีเนื้อนิ่ม เนื้อในรากเป็นสีขาว แตกรากฝอยมาก การจะเก็บรากโสมจะต้องเก็บในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก่อนการออกดอก ซึ่งจะเป็นช่วงที่โสมมีสารสำคัญอยู่มากที่สุด เมื่อเก็บมาแล้วก็ต้องทำให้แห้งโดยเร็ว ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้เอนไซม์ในรากโสมออกมาทำลาย saponin[2],[3]


Cr.www.pobpad.com







Powered by MakeWebEasy.com